วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

หน่วยที่ 1  
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

1.            กำเนิดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
                มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่กันเป็นหมู่เหล่าตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว หน่วยเล็กที่สุดของสังคมคือครอบครัวขนาดใหญ่ขึ้นมาเป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จนในที่สุดเป็นเมือง และเป็นประเทศตามลำดับ  มนุษย์แต่ละหมู่เหล่ามีการติดต่อสื่อสารพบปะกัน เพื่อแลกเปลี่ยนอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ ยารักษาโรคที่ชุมชนของตนไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ ฯลฯ จนเกิดเป็นการค้าขายระหว่างหมู่บ้าน ตำบล เมือง และประเทศขึ้น การติดต่อในยุคแรก ๆ เป็นการบอกกันปากต่อปาก ต่อมามีการสื่อสารกันด้วยตัวอักษรที่จารึกบนวัสดุต่าง ๆ ซึ่งกลายมาเป็นการส่งจดหมายถึงกัน จากนั้นมีการสื่อสารกันด้วยวิธีการที่หลากหลายและมีความรวดเร็วมากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีโทรคมนาคม ซึ่งอาศัยหลักวิชาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เปลี่ยนคำพูด ข้อความหรือภาพ     เป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปตามสาย หรือเปลี่ยนเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เรียกว่า คลื่นวิทยุกระจายไปในอากาศ เมื่อถึงปลายทาง สัญญาณหรือคลื่นที่ส่งไปนั้นจะถูกคืนสภาพให้กลับเป็นเป็นคำพูดข้อความหรือภาพเหมือนกับสิ่งที่ส่งออกไปจากต้นทาง พัฒนาการของเทคโนโลยีโทรคมนาคมนี้ ทำให้คนที่อยู่คนละซีกโลกกันสามารถรับรู้ข่าวสารของกันและกันได้ภายในชั่วพริบตา เพราะอัตราความเร็วของการเดินทางของสัญญาณไฟฟ้าตามสาย หรือของคลื่นวิทยุนั้น อยู่ในระดับเดียวกับความเร็วของแสง  เช่น เหตุร้ายจากการก่อวินาศกรรมโดยใช้เครื่องบินโดยสารที่ถูกจี้บังคับมาชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่นครนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 11กันยายน พ.ศ. 2544 นั้น คนทั้งโลกได้เห็นเหตุการณ์สดๆ ผ่านเครือข่ายข่าวโทรทัศน์ของซีเอ็นเอ็น
                เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พึ่งมีขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 20 ปีที่ผ่านมานี่เอง เป็นเทคโนโลยีที่เกิดจากการรวมเทคโนโลยี 2 ประเภทเข้าด้วยกัน คือ เทคโนโลยีโทรคมนาคม กับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คำว่า สารสนเทศ หมายถึง ตัวเนื้อหาสาระของข้อมูลข่าวสาร โดยใช้คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่รวบรวม จัดเก็บ ปรับเปลี่ยนรูปแบบของสารสนเทศ และใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมซึ่งพัฒนามาจากเครือข่ายโทรทัศน์และเครือข่ายวิทยุมาสร้างระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขึ้น เป็นการนำเอาความสามารถของคอมพิวเตอร์(คำนวณ ประมวลผล เปรียบเทียบ และตรวจสอบ ได้รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ) มารวมกับความสามารถของระบบโทรคมนาคม (ติดต่อได้รวดเร็วและกว้างไกล) ดังนั้น เทคโนโลยีสารสนเทศ             จึงหมายถึง เทคโนโลยีที่ใช้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์มาจัดการเกี่ยวกับสารสนเทศนั่นเอง




       ปัจจุบันนี้ มีการใช้คำว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Information and Communication Technology : ICT กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาบนพื้นฐานของระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งกำลังเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกด้านหนึ่ง คือ เทคโนโลยีการสื่อสารโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสื่อสารไร้สายก็กำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ทำให้เกิดการใช้งาน      ในรูปแบบใหม่ ๆ มากขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยระบบคอมพิวเตอร์ ตัวอย่าง เช่น การทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ m-Shopping (การซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ) m-Banking (การสั่งจ่ายเงินหรือโอนเงินจากธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ) m-commerce (ธุรกิจผ่านมือถือ) เป็นต้น นอกจากนี้บริการสอบถามและแจ้งข้อมูลทางโทรศัพท์ซึ่งใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ที่เรียกว่าศูนย์ให้บริการ (Call Center) เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของพัฒนาการใหม่ด้านการสื่อสาร ในกรณีของ Call Center แม้ว่าจะต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ติดตั้งอยู่ทางด้านผู้ให้บริการ แต่ทางด้านผู้รับบริการใช้เพียงโทรศัพท์ ก็สามารถรับบริการได้ ซึ่งแตกต่างจากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างอินเตอร์เน็ตที่ผู้ใช้บริการต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย  อย่างไรก็ตาม ในอนาคตไม่ไกลนัก เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสารมีแนวโน้มจะรวมเข้าด้วยกัน ดังจะเห็นได้จากโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ ที่สามารถรับส่งอีเมล์ได้ คอมพิวเตอร์พกพาบางรุ่นก็สามารถใช้เป็นโทรศัพท์มือถือได้ด้วย วิธีการผสมผสานเทคโนโลยีทั้งสองด้านนี้ เรียกว่า คอนเวอร์เจนซ์ (Convergence)

2.            ประวัติโดยย่อของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
                จากที่กล่าวมาแล้วว่า เทคโนโลยีสารสนเทศเกิดการจากการรวมกันของเทคโนโลยี 2 ด้าน คือเทคโนโลยีโทรคมนาคมกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซึ่งแต่ละด้านมีประวัติหรือพัฒนาการ ดังนี้    
                                                   

                เทคโนโลยีโทรคมนาคม
                เทคโนโลยีโทรคมนาคม เริ่มจากการประดิษฐ์โทรเลขของ แซมวล มอร์ส(Samual Morse) ในปี พ.ศ. 2380 นับว่าเป็นครั้งแรกที่ข่าวสารถูกแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปตามสายเป็นระยะทางไกลๆได้ โดยอาศัยวิธีการเข้ารหัสตัวอักษร เป็นรหัสอื่นที่ประกอบด้วยจุด (.) และขีด (-) เช่น สัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน SOS จะเข้ารหัสเป็น... - - - ... การรับส่งโทรเลขได้ถูกนำมาใช้งานในเชิงการค้าตั้งแต่ พ.ศ. 2387 เป็นต้นมา และในปี พ.ศ. 2401 ได้มีการวางสายเคเบิลใต้มหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้เกิดการสื่อสารข้ามทวีประหว่างทวีปอเมริกากับทวีปยุโรปขึ้นเป็นครั้งแรก
                                            
                                         
             ในปี พ.ศ. 2419 อเล็กซานเดอร์ แกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell)ได้ประดิษฐ์โทรศัพท์ และได้ตั้งชุมสายโทรศัพท์แห่งแรกที่เมืองนิวเฮเวน รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา จากนั้นเครือข่ายโทรศัพท์ได้ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว จนในปัจจุบันสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยระบบโทรศัพท์ทางไกลอัตโนมัติ นับเป็นพัฒนาการอันยิ่งใหญ่ด้านเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม               
                ด้านการสื่อสารไร้สาย ได้มีการพัฒนาการค้นพบคลื่นวิทยุในปี พ.ศ. 2430 โดย ไฮน์ริช แฮตน์ (เฮิร์ต) (Heinrich Hertz) และต่อมาปี พ.ศ. 2437 กูกลิเอลโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) สามารถประดิษฐ์เครื่องรับส่งวิทยุเครื่องแรกได้สำเร็จ จากนั้นได้มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สำคัญหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
                ในปี พ.ศ. 2477-2479 จอห์น เฟลมมิง (John Flemming) และ ลี เดอ ฟอเรสต์ (Lee De Forest) ได้ประดิษฐ์หลอดสุญญากาศ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายการแปรรูปสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์
                ในปี พ.ศ. 2497 วลาดิเมียร์ สวอริคิน (Vladimir Zworykin) ได้ประดิษฐ์หลอดภาพโทรทัศน์ ซึ่งเป็นที่มาของจอภาพคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน
                ในปี พ.ศ. 2490 ชอกลีย์ บาร์ดีน และ แบรตเทน (Schockley, Bardeen and Brattain) ได้ประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ ซึ่งเป็นที่มาของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสารกึ่งตัวนำไอซีและซีพียูในคอมพิวเตอร์
                ในปี พ.ศ. 2500 คิลบี และ นอยส์ (Jack Kilby, Robert Noyce) ได้ประดิษฐ์วงจรรวมหรือไอซี ซึ่ง เป็นเทคโนโลยีย่อส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันมีสมรรถนะสูงและมีขนาดเล็ก
                ในปี พ.ศ. 2504 บริษัทเอทีแอนด์ที ได้สร้างดาวเทียมสื่อสาร เทลสตาร์ 1 เป็นดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของโลก

                                      



                    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น